อนิรุทธ์ วังไชย
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : 1) เพื่อเปรียบเทียบผลการนิเทศทางคลินิกของพยาบาลวิชาชีพต่อความรู้และการปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดก่อนและหลังการใช้การนิเทศทางคลินิก
2) เพื่อศึกษาความคิดเห็นและความพึงพอใจของพยาบาลต่อการนิเทศทางคลินิก
รูปแบบและวิธีวิจัย : การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียววัดผลก่อน-หลัง โดยใช้แนวคิดการนิเทศทางคลินิกของพร็อคเตอร์ ประกอบด้วย การนิเทศตามมาตรฐาน การนิเทศเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถ และการนิเทศเพื่อธำรงรักษา กลุ่มตัวอย่างโดยทำการเลือกแบบเฉพาะเจาะจงเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในงานการพยาบาลผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสังคม จำนวน 14 คน กิจกรรมการนิเทศทางคลินิก ประกอบด้วย การประชุมเชิงเนื้อหา การสอนแนะ การให้คำปรึกษา และการประชุมปรึกษาทางการพยาบาล ใช้เวลา 2 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบประเมินความรู้ในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด 2) แบบประเมินการปฏิบัติการพยาบาลในการดูแลป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด 3) แบบประเมินความคิดเห็นและแบบสอบถามความพึงพอใจในการนิเทศ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ Wilcoxon Signed Rank Test
ผลการศึกษา : ผลการศึกษาพบว่าภายหลังได้รับการนิเทศทางคลินิก 1) พยาบาลมีคะแนนเฉลี่ยอันดับของความรู้ในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดสูงกว่าก่อนได้รับการนิเทศทางคลินิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) 2) พยาบาลมีคะแนนเฉลี่ยอันดับของการปฏิบัติตามแนวทางในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดสูงกว่าก่อนได้รับการนิเทศทางคลินิกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) 3)คะแนนความคิดเห็นและความพึงพอใจในการนิเทศ เฉลี่ยร้อยละ 82.38 และ92.0 ตามลำดับ
สรุปผลการศึกษา
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การนิเทศทางคลินิกทำให้พยาบาลได้พัฒนาการปฏิบัติการพยาบาล ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือด และมีความพึงพอใจในการนิเทศ จึงควรนำรูปแบบการนิเทศทางคลินิกมาใช้ในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วย เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาลต่อไป