วัตถุประสงค์ : การศึกษาครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงประเมินผล (Evaluation Research) โดยประเมินงานธนาคารเลือดและงานบริการโลหิตเฉพาะภายในโรงพยาบาลหนองคาย ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม 2565 ใช้รูปแบบการประเมิน CIPP Model โดยประยุกต์ตามแนวความคิดของ Stufflebeam (18) ประเมินใน 4 ด้าน ตามรายละเอียดดังนี้ 1) ด้านบริบท (Context Evaluation) 2) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input Evaluation) 3) ด้านกระบวนการ (Process Evaluation) และ 4) ด้านผลผลิต (Product Evaluation) ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดการประเมินอีก 3 ประเภท ได้แก่ 4.1) ผลผลิตจากกระบวนการ (Output Evaluation) 4.2) ผลลัพธ์ (Outcome Evaluation) และ 4.3) ผลกระทบ (Impact Evaluation)
รูปแบบและวิธีวิจัย : ข้อมูลที่ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปในการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) นำเสนอข้อมูลด้วยจำนวนและร้อยละ การวิเคราะห์แบบสัมภาษณ์ผู้บริหาร นำเสนอข้อมูลแบบบรรยายและวิเคราะห์ด้วยตัวอักษร (Content analysis) การวิเคราะห์แบบประเมินงานธนาคารเลือดและงานบริการโลหิตตามแบบ CIPP Model แบบประเมินความพึงพอใจผู้บริจาคโลหิต เอกสารของหน่วยงาน และแบบบันทึก วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการแจกแจงความถี่ หาค่าร้อยละ
ผลการศึกษา : ผลประตามรูปแบบ CIPP model โดยอิงตามเกณฑ์มาตรฐานสภากาชาดไทย จำนวนทั้งหมด 174 ข้อ พบว่าผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 171 รายการ คิดเป็นร้อยละ 98.28 ด้านที่ผ่านเกณฑ์การประเมินมากที่สุด คือด้านบริบท และกระบวนการ ร้อยละ 100 ทั้ง 2 ด้าน ในขณะที่ด้านปัจจัยนำเข้ามีเรื่องเครื่องมือและอาคารสถานที่ไม่ผ่าน 3 ข้อ คิดเป็นร้อยละ 6.25 (ตารางที่ 1) โดยด้านบริบทผ่านการประเมินร้อยละ 100 (15/15 รายการ) ด้านปัจจัยนำเข้าผ่านการประเมินร้อยละ 93.75 (45/48 รายการ) ด้านกระบวนการผ่านการประเมินร้อยละ 100 (111/111 รายการ) ด้านผลผลิตจากการประเมินคุณภาพของโลหิต โดยมีค่าความเข้มข้นเลือดใน Hemoglobin มากกว่า 12.5 g/dL และ มากกว่า 13.0 g/dL ในเพศหญิงและชายตามลำดับ และ Hematocrit มากกว่า 37% และ 40% ในเพศหญิงและเพศชายตามลำดับร้อยละ 100 (2,923/2,923 ยูนิต) ด้านผลลัพธ์จากการสำรวจความพึงพอใจผู้บริจาคโลหิต มีระดับความพึงพอใจ ระดับ 5 มากที่สุด 3 รายการประเมินคือ 1) ความพึงพอใจจากการบริจาคโลหิตครั้งนี้ 2) การดูแลระหว่างการบริจาคและหลังการบริจาคโลหิต และ 3) ความเต็มใจความพร้อมในการให้บริการอย่างสุภาพ ยิ้มแย้มแจ่มใส ตามลำดับ เป็นจำนวน 226, 220 และ 218 ราย คิดเป็นร้อยละ 74.59, 72.61 และ 71.95 ตามลำดับ (ตารางที่ 2) และด้านผลกระทบจากผลแทรกซ้อนจากการบริจาคโลหิต จำนวน 5 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.65 โดยพบว่ามีอาการเป็นลม 3 ราย และมีรอยช้ำเขียว บวม และมีอาการปวดเฉพาะที่ตรงรอยซ้ำจำนวน 2 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.9 และ 0.66 ตามลำดับ ผลแทรกซ้อนจากการรับเลือดในผู้ป่วยที่รับเลือดทั้งหมดจำนวน 2,045 ราย เกิดปฏิกิริยาจากการให้เลือดจำนวน 6 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.29 โดยพบว่ามีไข้ไม่ทราบสาเหตุ 3 ราย อาการหนาวสั่น (Chill) 2 ราย และมีผื่นคัน 1 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15, 0.10 และ 0.05 ตามลำดับ โลหิตติดเชื้อ ผลการศึกษาข้อมูลผลการตรวจคัดกรองการติดเชื้อในโลหิตบริจาค ระหว่างวเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม 2565 จำนวน 2,923 ยูนิต พบว่ามีโลหิตติดเชื้อทั้งหมด จำนวน 25 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 0.86 โดยพบว่าเป็นโลหิตที่ติดเชื้อ ซิฟิลิส (Syphilis), ไวรัสตับอักเสบชนิดบี (HBs Ag), ไวรัสตับอักเสบชนิดซี (Anti-HCV) และไวรัสเอชไอวี (HIV Ag/Ab) จำนวน 9, 17, 6 และ 3 ยูนิต ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 0.31, 0.58, 0.21 และ 0.10 ตามลำดับ และโลหิตหมดอายุ ทั้งสิ้น 82 ยูนิต จากจำนวนโลหิตมีไว้เพื่อใช้ทั้งปี 2,923 ยูนิต คิดเป็นร้อยละ 2.81 โดยพบว่าเป็นหมู่ A, B, O และ AB ร้อยละ 26.83, 35.37, 29.27 และ 8.54 ตามลำดับ